Home

จดหมายจางวางหร่ำเป็นงานนิพนธ์ของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ หรือ น.ม.ส. ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือทวีปัญญา เมื่อ พ.ศ. 2448 จดหมายจางวางหร่ำเป็นจดหมายที่ “จางวางหร่ำ” เศรษฐีเมืองฉะเชิงเทราเขียนถึง “นายสนธิ์” บุตรชาย รูปแบบของจดหมายเป็นการขียนเพียงฝ่ายเดียวไม่มีจดหมายตอบ รวมทั้งหมด 7 ฉบับ แต่ละฉบับมีเนื้อหามุ่งอบรมสั่งสอนในเรื่องต่าง ๆ ผู้อ่านสามารถเห็นความคิดหลักในการสอนลูกได้จากคำขึ้นต้นที่เป็นการสรุปเรื่องราวในจดหมาย ดังนี้ ฉบับที่ 1 “ถึงนายสนธิ์ ผู้บุตร ผู้ออกไปเป็นนักเรียนอยู่ประเทศอังกฤษ” จดหมายฉบับนี้สอนนายสนธิ์เรื่องการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ฉบับที่ 2 “มีถึงบุตรชาย เมื่อได้เห็นใช้เงินฟุ่มเฟือยนัก” จดหมายฉบับนี้สอนเรื่องการใช้จ่ายทรัพย์ ฉบับที่ 3 “ถึงนายสนธิ์ ผู้บุตร ผู้ได้บอกมาว่าจะขอไปเรียนยูนิเวอร์ซิตี้ เมื่อไล่ได้เป็น บี.เอ. แล้วจึงกลับ” จดหมายฉบับนี้ สอนเรื่องการเลือกวิชาเรียนให้เหมาะสมกับที่จะนำไปใช้ ฉบับที่ 4 “มีถึงนายสนธิ์ ผู้บุตร เมื่อนายสนธิ์บอกเข้ามาว่า เวลากลับจากยุโรปจะขออ้อมกลับทางอเมริกาและญี่ปุ่น ด้วยการเที่ยวดูภูมิฐานบ้านเมืองต่างประเทศ ย่อมนับว่าเป็นการเรียนวิชาประเภทหนึ่งเหมือนกัน” จดหมายฉบับนี้ สอนเรื่องการเที่ยวเตร่ก่อนกลับบ้านนั้นไม่เกี่ยวข้องกับงานที่รอนายสนธิ์อยู่ ฉบับที่ 5 “เขียนถึงนายสนธิ์ ผู้บุตร เมื่อนายสนธิ์ขอถอนคำเรื่องที่จะคิดกลับอ้อมทางอเมริกาและญี่ปุ่น อนึ่งเมื่อได้เขียนจดหมายฉบับที่ 4 ไปถึงบุตรชายแล้ว จางวางหร่ำก็ออกจากฉะเชิงเทราไปทำธุระที่เชียงใหม่ นายสนธิ์กลับมาจากยุโรปยังไม่ได้พบกับบิดา แต่ได้เข้าทำงานในบริษัทไม่สู้พอใจอยู่บ้างจึงเขียนหนังสือไปฟ้องยังบิดา” จดหมายฉบับนี้ สอนเรื่องการทำงาน ฉบับที่ 6 “เขียนถึงนายสนธิ์ ผู้บุตร เมื่อได้ทราบว่าลูกชายคิดจะมีเมีย” จดหมายฉบับนี้ สอนเรื่องการเลือกคู่ครอง ฉบับที่ 7 ไม่มีการกล่าวขึ้นต้นเพื่อสรุปเช่นฉบับอื่น ๆ เป็นจดหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีการใช้เงินหมื่นบาทของจางวางหร่ำ ซึ่งก็เป็นการสอนนายสนธิ์ไปในตัวด้วย เนื้อหาของจดหมายฉบับนี้ไม่สัมพันธ์กับจดหมายฉบับอื่น ตัวอย่าง ในจดหมายฉบับที 1 จางวางหร่ำยกตัวอย่างม้าขาหักเพื่ออธิบายถึงคนที่เปล่าประโยชน์ ดังนี้ “...ความเป็นผู้ตาสั้นนี้ไม่สลักสำคัญ ด้วยแว่นตาราคาถูก แต่การเรียนอะไรไม่ได้นั้นสำคัญที่สุด เพราะถ้าเรียนเหลวกลับมาก็เป็นผู้ไม่มีประโยชน์สมกับที่เกิดมาเป็นคน และความเป็นผู้เปล่าประโยชน์นั้นเป็นของแพงที่สุด แต่เป็นของหาง่ายเปรียบเหมือนม้าขาหัก ซึ่งเจ้าของเป็นผู้ละลายบาป หากว่าจะหาซื้อก็สองสลึงเฟื้อง ต่อเมื่อมีมาอยู่กับตัวแล้วจึงแพง แพงแกผู้เป็นเจ้าของ และถ้าเจ้าเป็นเจ้าของก็จะแพงแก่ข้าผู้เป็นพ่อของเจ้าของด้วย” (จดหมายจางวางหร่ำ หน้า 1-2) ในจดหมายฉบับที่ 3 กล่าวเปรียบเทียบให้เห็นความพอเหมาะพอดีในการหาความรู้ ดังนี้ “เมื่อข้ากล่าวว่าให้เจ้ารีบเรียนให้มาก ๆ นั้น ข้าหมายความว่าอย่าให้เสียเวลามาก ถ้าเจ้าเรียนสูงได้ต่อเมื่อไม่ต้องคิดถึงเวลา ก็อย่าให้มันสูงเกินต้องการไปเลย เปรียบเหมือนถ้าเจ้ามีเวลาอยู่ครึ่งชั่วโมง ถ้าทำขนบจีบได้ก็ดี ถ้าทำไม่ทันเอาเพียงปั้นสิบก็ได้ ซึ่งจะไปเสียเวลาอีกครึ่งชั่วโมงสำหรับทำปั้นสิบให้เป็นขนมจีบขึ้นนั้นไม่ควร” (จดหมายจางวางหร่ำ หน้า 14) จดหมายจางวางหร่ำ เป็นวรรณกรรมที่อ่านเพลิน ประเทืองอารมณ์ แต่ในขณะเดียวกันก็ประเทืองปัญญาผู้อ่านด้วย เพราะประกอบด้วยข้อคิดคำคมต่าง ๆ ที่แยบยลลึกซึ้ง คำสอนที่ปรากฎยังคงทันสมัยอยู่ นำมาใช้ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ (สุวัฒนา วรรณรังษี เรียบเรียง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคกลาง เล่มที่ 3)

วันที่เผยแพร่ : 04/2022
สำนักพิมพ์ : บรรณกิจ (1991) จำกัด
หมวดหมู่ : 800 Literature
จำนวนหน้า : 109 หน้า
245 - Title statement
020 - International standard book number
100 - Main entry--personal name
260 - Publication, distribution, etc. (imprint)
300 - Physical description
650 - Subject added entry--topical term

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้ (Cookie) เพื่อใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพเว็บไซต์ ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการใช้คุกกี้ได้ที่ นโยบายคุกกี้
ยอมรับ
version 1.0.5-5524b046d