Home

October 19, 2023953 432

“เมื่อความขี้อาย กลายเป็นความกลัว” กังวลต่อการเข้าสังคมหรือที่เคยเรียกว่าโรคกลัวสังคม (Social Phobia) พบเห็นได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองรู้สึกขัดอกขัดใจกับบุตรหลาน ของตนอย่างมากว่า “ไม่กล้าแสดงออก” หรือพ่อแม่อาจอับอายที่มีลูกขี้อายและยิ่งพยายามผลักดันให้เด็ก ๆ เหล่านี้ได้ “แสดงออก” มาก ๆ เช่น ส่งไปเต้นระบำขับร้องบนเวที ที่มีคนดูเยอะๆ อาจยิ่งจะทำให้เด็กรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นที่ไม่อาจทำให้พ่อแม่พอใจได้

อาการหลักๆ ของโรคนี้คือ
ความกลัวต่อการถูกเฝ้ามองหรือถูกประเมินจากคนอื่น เด็กเหล่านี้จะกลัวโดยคิดไป ว่าเขาอาจจะทำหรือพูดอะไรที่ดู “ เปิ่น ๆ เชย ๆ ผิด งี่เง่า ไม่เข้าท่า ” ออกไปทำให้ตัวเองได้อาย หรืออาจตกเป็นเป้า สายตาของการถูกการวิพากษ์วิจารณ์ ความแตกต่างของโรคนี้จากความ “ ขี้อาย ” ทั่วไปก็คือ เด็กเหล่านี้จะแทบทำอะไร ต่อหน้าคนอื่นไม่ได้เลย และอาการเหล่านี้มักไม่ดีขึ้นเมื่อโตขึ้นแบบ “ หายไปเองตอนโต ” เหมือนเด็กขี้อาย คนอื่น ๆ เวลาที่เด็กเหล่านี้กลัว เด็กอาจมีอาการทางร่างกายต่าง ๆ ตามมา เช่น เวียนหัว มีนงง ท้องไส้ปั่นป่วน มือสั่น ใจสั่น เหงื่อแตก หน้าแดงหรือเกร็งกล้ามเนื้อต่าง ๆ หรือบางคนอาจกลัวลนลาน วิ่งหนีเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ ก็เป็นได้ สถานการณ์หลัก ๆ ที่มักทำให้เด็กเหล่านี้แสดงอาการออกมาคือ การต้องเป็นคนนำการสนทนาให้กับคนที่ไม่คุ้น การ ไปงานกิจกรรม ที่ไม่มีระเบียบแบบแผนดู “ มั่ว ๆ ” การต้องแสดงหรือพูดหน้าชั้น ถามคำถามในห้อง ซึ่งเด็กเหล่านี้ก็จะ “ ช่วยตนเอง ” โดยการ “ หลีกหนี ” การเข้าสู่สถานการณ์สังคมเหล่านั้นไป ทำให้พวกเขาพลาดโอกาสที่จะได้รู้จัก ความสามารถของคน รู้จักคนเพิ่มหรือรักษามิตรภาพกับเพื่อน ๆ ไว้





โรคกังวลต่อการเข้าสังคม

พ่อแม่อาจสังเกตลูกได้ว่ามีอาการดังนี้
• ลังเล รู้สึกไม่สบายใจ หรือยอมเป็นคนตามเมื่อต้องเป็นจุดสนใจของคนอื่น
• หลบเลี่ยงที่จะเริ่มพูดคุย แสดงออก ไปงานรื่นเริง รับโทรศัพท์หรือสั่งอาหารตามร้านภัตตาคาร
• ไม่ค่อยสบตา หรือมักพูดเบา ๆ พึมพำ
• คุยหรือเล่นกับเพื่อนน้อย
• แยกตัวจากกลุ่มเพื่อน ไปเก็บตัวในห้องสมุดอย่างไม่มีความสุข (ไม่ใช่เพราะรักการอ่านจริง)
• ใส่ใจกับคำพูดคำวิจารณ์ต่างๆ อย่างมาก กลัว “ขายหน้า” ฯลฯ
นอกจากนี้ ผลตามมาของการที่เด็กกลัวสังคมมาก ๆ อาจทำให้เด็กปฏิเสธการไปโรงเรียน( School refusal) โดยบอกว่าปวดหัว ปวดท้องบ่อย ๆ หรือ เด็กกลายเป็น “ ใบ้ ” ไม่พูดกับใครเลยนอกบ้าน แต่จะพูดเฉพาะกับคนที่คุ้นเคยได้อย่างปกติ ( Selective mutism) ก็ได้


ไม่รักษาได้ไหม
โดยทั่วไปเด็กเหล่านี้มักมีอาการเหล่านี้มาตั้งแต่ยังอายุน้อย แต่มักจะเห็นอาการเด่นชัดในช่วง วัยรุ่นซึ่งเป็นจังหวะที่เด็กอาศัยการเข้าสังคม การคบหาเพื่อนเป็น “ห้องทดลอง” หาประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองและบุคลิกภาพ ซึ่งหากเด็กที่มีอาการกลัวการเข้าสังคมอย่างมาก อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในด้านดังกล่าว ทำให้ เด็กรู้สึกอึดอัดกับตนเอง จนอาจเกิดปัญหาทางอารมณ์หรือโรคซึมเศร้าตามมา สิ่งที่น่ากลัวและเกิดอยู่เสมอ ก็คือ การหันไปใช้สุราเพื่อลดความกังวล “ตื่นเต้น” ในการเข้าสังคมเข้าทำนอง “เอาเหล้าย้อมใจ” หรือ “ถ้าเหล้าเข้าปากถึงจะคุยสนุก” ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ การเรียน และสังคมตามมาอีกมากมาย


คำแนะนำในการช่วยเหลือ
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
• สร้างโอกาสให้บุตรหลานของท่านได้ “ทดลอง” กับสังคมที่หลากหลาย อย่างเล่นกับเพื่อนๆ กลุ่ม ต่าง ๆ ไปงาน วันเกิด เพื่อนๆ ญาติ ๆ เข้ากิจกรรมโรงเรียนแต่ไม่ควรผลักดันลูกไปเข้าสถานการณ์ใหญ่ ๆ ยาก ๆ ในทั้งที่ตั้งแต่เริ่มต้น อย่างประกวดร้องเพลง แข่งพูดโต้วาที เป็นต้น เพราะเด็กอาจล้มเหลวได้รับแต่ประสบการณ์ที่แย่แทนที่จะรู้สึกว่าทำได้
• เวลาเห็นลูกทำท่าอึดอัดหรือตอบคนอื่นช้าอย่า “พูดแทน” ลูก เช่น เวลาสั่งอาหารช้า ก็สั่งให้หรือแย่งตอบคำถาม ที่ผู้ใหญ่คนอื่น ถามให้แทน
• จูงใจให้รางวัลหากลูกกล้าพูด
• ทำตัวเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นในสถานการณ์สังคมต่าง ๆ ว่าควรวางตัวอย่างไร
• กรุณาอย่าทำท่าทางเหนื่อยหน่าย “เบื่อ” หรือโมโห หากลูกไม่สามารถแสดงออกได้ดังใจของท่าน (จริงๆ เขาก็ ผิดหวังตัวเองอยู่เยอะแล้ว) ควรแสดงความเข้าใจเขา และให้กำลังใจแนะนำให้ลองครั้งต่อไป


สำหรับคุณครู
• ลองเปลี่ยนบรรยากาศกฎเกณฑ์ให้ลูกศิษย์ที่กลัวการเข้าสังคมของคุณ ซึ่งอาจจะ “ช้า” หรือ “ลังเล” ให้มีโอกาส ได้แสดงออกบ้าง ไม่ใช่เน้นแต่ “ความเร็ว” หรือ “ความเด่น”
• คุยกับเขาว่า เราพยายามสร้างโอกาสให้เขาได้แสดงออก ไม่ใช่ “แกล้ง” ทำให้เขาได้อาย
• แนะนำเขาว่าการได้พูดตอบแค่ “เบาๆ” ในห้องก็เพียงพอแล้วสำหรับการมีส่วนร่วมในช่วงแรกๆเขาจะรู้สึกว่าการมี ส่วนร่วมนั้น “ง่าย” ขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งถัดมา
• อย่าระดมถามแต่เด็กที่กำลังฝึกคนนี้อยู่คนเดียว ควรกระจายถามเด็กคนอื่นๆ ให้เสมอๆ กันอย่างเป็นธรรมชาติ


การรักษาโดยจิตแพทย์
• พฤติกรรมบำบัด โดยมักให้เด็กได้ค่อยๆ เผชิญกับสถานการณ์ที่เด็กกลัวหรือตื่นเต้นอยู่ทีละน้อยให้เด็กได้พิสูจน์ “ว่าสิ่งที่เขาคิดกลัวอยู่นั้นเป็นจริงหรือ” อย่าง “ทุกคนต้องหัวเราะเยาะฉันแน่แค่ฉันพูดคำแรก” หรือ การฝึกสอนเด็กให้ รู้จักการเริ่มต้นการสนทนา หัดผ่อนคลายความเครียด ความกลัวของตนเองลง
• การให้ยาที่ลดความกังวลและความตื่นกลัวของเด็ก ซึ่งมียาหลายชนิดที่ได้ผลดีโดยมิได้ทำให้เกิดการติดยา ง่วงซึมหรือทำลายสมองเด็กอย่างที่เคยเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน ควรปรึกษาจิตแพทย์เด็กถึงทางเลือกของการรักษา


นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์



This website uses cookies

We use cookies to improve website performance. You can learn more about the use of cookies at Cookie Policy
Accept
version 1.0.5-715dba233