ทักษะทางสังคมเป็นทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นกฎกติกา แผนที่ หรือทิศทางในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ทักษะทางสังคมเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกผ่านคำพูด สีหน้า ท่าทาง ซึ่งสามารถทำนายผลทางสังคมได้ เช่น เรายิ้ม เพื่อนก็จะยิ้มตอบ ทักษะทางสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อน
เด็กส่วนมากมักจะเรียนรู้ทักษะทางสังคมผ่านการสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะการเล่นกับเพื่อน แต่ในสังคมปัจจุบัน เด็กอยู่กับการเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน หรือสถาบันเรียนพิเศษต่างๆ จึงมีโอกาสเล่นกับเพื่อนน้อยลง ประกอบกับโลกดิจิทัลที่เอื้อให้เด็กสามารถหาความบันเทิงผ่านการเล่นเกมออนไลน์หรือเกมคอมพิวเตอร์ ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ใน YouTube ดังนั้นเด็กจึงมีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะทางสังคมตามธรรมชาติได้น้อยลง
สำหรับเด็กที่มีความต้องการเป็นพิเศษ ทักษะทางสังคมอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก เด็กในกลุ่มนี้มักถูกกล่าวถึงว่า “ไม่รู้กาลเทศะ” “ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง” “อยู่ในโลกของตัวเอง” “ไม่สนใจผู้อื่น” “ไม่มีเพื่อน” “แพ้ไม่ได้” หรือ “แปลก”
ความบกพร่องทางทักษะทางสังคมในเด็กพิเศษ อาจแบ่งเป็น 5 ด้านใหญ่ๆ ดังนี้
1) ทักษะการสื่อสารเบื้องต้น รวมถึงทักษะการฟังและการใส่ใจ การสนทนา การทำตามคำสั่ง การแสดงออกทางสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียง (nonverbal) และการทำความเข้าใจสีหน้าท่าทางและน้ำเสียงของผู้อื่น
2) ทักษะการสร้างสัมพันธภาพและการเข้าใจผู้อื่น (Empathy) รวมถึงการเข้าหาพื่อน การเชื่อมโยงกับเพื่อน และการไม่จดจ่อกับตนเองหรือผู้อื่นที่มากหรือน้อยเกินไป
3) ทักษะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมถึงการแบ่งปัน การเข้าร่วมกิจกรรม การขออนุญาต การรอคิวหรือการสลับกันเล่น การควบคุมตนเอง การจัดการกับอารมณ์ และมารยาททางสังคม
4) ทักษะการแก้ไขปัญหา รวมถึงการขอความช่วยเหลือ การขอโทษ การตัดสินใจและการยอมรับผลของการตัดสินใจของตนเอง การรับมือกับการล้อเลียนของเพื่อน การยอมรับความพ่ายแพ้ และการแก้ไขข้อขัดแย้ง
5) ทักษะเกี่ยวกับการยอมรับภาระและความรับผิดชอบ (Accountability รวมถึงการยอมรับความผิดพลาดของตนเอง ไม่โทษผู้อื่น และการยอมรับข้อคิดเห็น คำแนะนำ หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น
ความบกพร่องทางทักษะทางสังคมอาจส่งผลให้เพื่อนไม่อยากเข้าหาหรือเล่นด้วย หรือเด็กอาจถูกล้อเลียนจากเพื่อน หรือกันออกจากกลุ่ม เมื่อเด็กโตขึ้นโดยไม่ได้รับการฝึกให้มีทักษะทางสังคมที่เหมาะสม ประเด็นเหล่านี้ก็อาจเพิ่มความรุนแรง ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในภายหลัง การฝึกทักษะทางสังคมจะช่วยเสริมสร้างการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) การจัดการกับตนเอง (Self-management) การตระหนักรู้ทางสังคม (Social awareness) การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ (Responsible decision making) และสัมพันธภาพกับผู้อื่น (Relationship skills) ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์และป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต