บางคนอาจสงสัยว่าอะไร คือ Cyberbullying
แต่ก่อนนั้นการกลั่นแกล้งรังแกกันอาจถูกจำกัดในบางสถานที่ เช่น ในโรงเรียน ที่ทำงาน แต่เดี๋ยวนี้เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้การกลั่นแกล้งรังแกเกิดได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา และผู้กระทำไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ทำให้การกลั่นแกล้งรังแกนั้นรุนแรงขึ้นกว่าปกติ
Cyberbullying คือ การรังแกรูปแบบใหม่ที่ทำผ่านการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เช่น เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ แช็ต และเว็บไซต์ต่างๆ
ความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงและส่งผ่านข้อมูล กด send แค่ปุ่มเดียว สิ่งต่างๆ ในความคิดเราก็เข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ ทำให้คนเราแกล้งกันง่ายขึ้น เพราะมือไว ใจเร็ว ขาดความยั้งคิดและไตร่ตรอง ผู้ใหญ่หลายคนก็เป็น นับประสาอะไรกับเด็กที่ยังขาดประสบการณ์ชีวิต
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ความเห็นบางอย่าง สิ่งต่างๆ ที่โพสต์ลงไปในโลกออนไลน์กลับทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของคน โดยที่บางครั้งคนโพสต์ก็อาจไม่ได้ตั้งไจ ตรงนี้ต้องการความละเอียดอ่อนและคุณสมบัติในการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งคนไทยบางคนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตอาจจะยังมีไม่มากพอ
บางคนมองเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก หรือบางคนที่ไปแกล้งคนอื่นก็จะมีข้ออ้างว่า “มันเป็นเรื่องเล็กน้อย” “ไม่เห็นจะมีอะไรเลย” “ทำไมต้องคิดมาก” “ขำๆ น่ะ” บางทีเราก็เอาตนเองเป็นตัวตั้งในการตัดสินคนอื่นมากเกินไป เราลืมคิดไปว่าเรื่องเล็กของเรา อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ และมีความหมายกับใครอีกคน
จากการสำรวจเด็กในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่ามีเด็กราวๆ ร้อยละ 48 ที่อยู่ในวงจร Cyberbullying โดยอาจเป็นทั้งผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ หรือเป็นผู้ที่พบเห็นการรังแกกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่อยู่ในชั้นมัธยมต้น
เด็กและวัยรุ่นที่เจอเรื่องแบบนี้มักเกิดความเครียดอย่างมาก ส่วนใหญ่เวลามีปัญหา เด็กมักไม่ได้เล่า ให้พ่อแม่ฟัง แต่พ่อแม่ก็จะสังเกตเห็นว่าเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึมเศร้า กลัว บางคนไม่ยอมไปโรงเรียน แยกตัว นอนไม่หลับ
มีเรื่องจริงที่น่าเศร้าเกิดขึ้นเป็นข่าวให้เราเห็นบ่อยๆ เมื่อเด็กบางคนฆ่าตัวตายเพราะสาเหตุจาก Cyberbullying เคยมีข่าวของเด็กผู้หญิงอเมริกันอายุ 12 ปี คนหนึ่ง ถูกรุมให้ร้ายผ่านเฟซบุ๊ก จากกลุ่มเพื่อนร่วมชั้น ว่าเธอเสียๆ หายๆ บางคนบอกให้เธอรีบๆ ตายไป ไม่อยากเห็นหน้า สุดท้ายเธอก็ไปกระโดดตึกและเสียชีวิต
Cyberbullying ทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น เครียด ซึมเศร้า ไม่ไปโรงเรียน การเรียน ตกต่ำลงโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ “ป้องกันได้” หากพวกเราใส่ใจและเห็นความสำคัญของการป้องกันปัญหาก่อนที่สายไป โดยเฉพาะเด็กๆ ผู้ใหญ่ควรอบรมและปลูกฝังให้เขารู้ว่า ทุกครั้งที่เขาอยู่ในโลกออนไลน์ เขาจะตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกกลั่นแกล้ง เขาต้องระมัดระวังและจะจัดการกับมันอย่างไรถ้าเกิดขึ้น
โทรศัพท์เดี๋ยวนี้สามารถบันทึกภาพหน้าจอได้ พ่อแม่ควรบอกเด็กว่า เวลาที่ถูกแกล้งแบบนี้อย่าลืมแคป หน้าจอเอาไว้เป็นหลักฐาน เพราะอาจต้องใช้ประโยชน์ภายหลัง อีกทั้งยังควรปรึกษาผู้ใหญ่ เช่น ครู พ่อแม่ เวลาที่เกิดเหตุการณ์ เพื่อจะได้มีตัวช่วยจัดการเมื่อสถานการณ์เลวร้ายจริงๆ
นอกจากนั้น พ่อแม่ควรต้องรู้เท่าทันในเรื่องโลกไซเบอร์ จะได้คุยกับลูกเข้าใจและแนะนำเขาได้ โดยแนะนำลูกถึงวิธีการป้องกันไม่ให้กลายเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีหรือคนที่จะมารังแก ก็คือ การตั้งค่าความปลอดภัยในการใช้งาน และควรบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจเวลาที่มีปัญหาหรือถูกรังแก อย่างน้อยๆ ก็มีคนช่วยคิดแก้ไข
แต่ก่อนอื่นก็ต้องทำให้ลูกไว้ใจพ่อแม่พอจนสามารถพูดคุยเรื่องเหล่านี้ด้วยได้ ซึ่งต้องเริ่มจากความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตรงนี้สำคัญมาก ก่อนที่อะไรจะสายไป พ่อแม่ คือ คนที่สำคัญที่สุดในการสร้างเกราะป้องกันให้ลูกๆ
หลายๆ คนกลัวการถูกกลั่นแกล้ง สิ่งที่สำคัญไม่น้อย คือ ต้องเริ่มที่ไม่กลายเป็นคนที่ไปแกล้งคนอื่นเสียเอง พ่อแม่ก็ต้องอย่าลืมสอนให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจและละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนอื่นด้วย
สุดท้ายฝากไว้ในเรื่องการกลั่นแกล้งจริงๆ หรือในโลกออนไลน์ก็ตาม สิ่งสำคัญที่ช่วยได้มากคือ ความเข้าใจจากคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับความรู้สึก ไม่มองว่าการถูกกลั่นแกล้งเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีความเห็นอกเห็นใจ ตรงนี้จะทำให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งผ่านพ้นสถานการณ์เลวร้ายไปได้ในที่สุด